วิสัยทัศน์
ส่งเสริมพัฒนาโรงเรียนให้มีการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาชาติโดยใช้ นวตกรรมและเทคโนโลยี การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ พัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพสูงและมีวัฒนธรรมการทำงานที่เหมาะสม ส่งผลให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีปัญญา มีสุขภาพแข็งแรงและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
พันธกิจ
1 ส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาโรงเรียนให้มีการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยระดมทรัพยากรทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม
2 พัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาชาติ โดยการจัดทำและพัฒนาหลักสูตร ให้มีการประเมินตนเอง การนิเทศติดตาม กำกับและประเมินผลเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง
3 พัฒนาระบบโครงสร้างการบริหาร โดยเน้นการบริหารแบบมีส่วนร่วมพัฒนาบุคลากรให้มีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล
4 พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัย
5 พัฒนาองค์กรและจัดบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้
การบริหารโดยยึดหลักนิติบุคคล
โรงเรียนจัดเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนประเภททั่วไป ดังนั้นการบริหารจัดการต้องอยู่ภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ให้ เช่น กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี เป็นต้น จะบริหารโดยอำเภอใจไม่ได้ ดังนั้นโรงเรียนจะยังคงอยู่ภายใต้บังคับบัญชา กำกับดูแลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
การบริหารและการจัดการศึกษาของโรงเรียนนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ให้โรงเรียนจัดการศึกษา ดังนี้
1 ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นตัวแทนนิติบุคคลในกิจการทั่วไปของโรงเรียนที่เกี่ยวกับบุคลภายนอก
2 ให้โรงเรียนมีอำนาจปกครอง ดูแลบำรุงรักษา ใช้และจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ เว้นแต่การจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ที่มีผู้บริจาคให้โรงเรียนต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน
3 ให้โรงเรียนจดทะเบียนสิทธิหรือดำเนินการทางทะเบียนทรัพย์สินต่างๆที่มีผู้อุทิศให้ หรือโดยการซื้อแลกเปลี่ยนจากรายได้ของสถานศึกษาให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสถานศึกษา
4 กรณีโรงเรียนดำเนินคดีเป็นผู้ฟ้องหรือถูกฟ้อง ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้ดำเนินคดีแทนสถานศึกษา หรือถูกฟ้องร่วมกับสถานศึกษา ถ้าถูกฟ้องโดยมิได้อยู่ในการปฏิบัติราชการในกรอบอำนาจ ผู้บริหารต้องรับผิดชอบเป็นการเฉพาะตัว
5 โรงเรียนต้องจัดทำงบดุลประจำปีและรายงานสาธารณะทุกสิ้นปีงบประมาณ
จากที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานของโรงเรียนจะมีอิสระ คล่องตัว สะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบต่อผลการดำเนินการจัดการศึกษามากยิ่งขึ้น
การบริหารโดยยึดหลักธรรมภิบาล
การบริหารโดยใช้หลักธรรมาภิบาลหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) มาจากคำว่า ธรรมะ + อภิบาล หมายความว่าหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองและสังคมที่ดีประกอบด้วยหลักพื้นฐาน6ประการดังนี้
1.หลักนิติธรรม ได้แก่การตรากฎหมาย กฎข้อบังคับต่างๆให้ทันสมัยและเป็นธรรมเป็นที่ยอมรับทั้งผู้ออกกฎและผู้ปฏิบัติตามตลอดจนทุกคนในสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมาย
2.หลักคุณธรรมได้แก่การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม ซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบ ตลอดจนมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจ
3.หลักความโปร่งใสมีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก เปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว ไม่บิดเบือนหรือปิดบังบางส่วน
4.หลักความมีส่วนร่วมได้แก่การเปิดโอกาสให้ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เราทำทั้งร่วมคิดร่วมทำร่วมแก้ไขและร่วมรับผิดชอบ
5.หลักความรับผิดชอบตรวจสอบได้นอกจากจะต้องมีความรับผิดชอบแล้วยังต้องสร้างกระบวนการให้หน่วยงานต่างๆมาตรวจสอบได้ว่าการทำงานของเราโปร่งใสจริง
6.หลักความคุ้มค่าได้แก่การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มเงิน คุ้ม เวลา คุ้มแรงงาน
ความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
ผู้บริหารที่ดีต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ เก่งคิด เก่งเงิน เก่งคน เก่งเวลา เก่งงานและ บริหารงานโดยหลักธรรมาภิบาล(good governance)
เก่งคิด คือ ต้องเป็นคนมีวิสัยทัศน์ ช่างคิด เป็นนักพัฒนา เป็นนักวางแผน สู้ทุกรูปแบบ ไม่รอให้ โอกาสมาหา เป็นคนดีเสมอต้นเสมอปลาย
เก่งคน ผู้บริหารต้องทราบว่าทุกคนมีทั้งส่วนดีและส่วนด้อย มีความสามารถมองศักยภาพของ ลูกน้องและใช้ความสามารถของแต่ละคนให้ถูกต้องกับงานต้องตั้งใจฟังทุกๆคน สามารจับประเด็นที่สำคัญได้ สรุปได้ กล้าตัดสินใจ ยุติธรรม มีทั้งพระเดชและพระคุณ รู้จักให้อภัย แยกแยะออกจากสมองเอาจุดอ่อนมาเป็นจุดแข็ง(รู้เขารู้เรา)มีความสามารถในการสื่อสาร
เก่งเงิน บริหารงบประมาณ จัดหา สนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์เท่าที่จำเป็นประหยัด อดออม ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่โลภ เดินสายกลาง
เก่งงาน รู้เรื่องงานตนเป็นอย่างดี ปรับปรุงพัฒนาตลอดเวลา อยากรู้ อยากเห็น ศึกษาตลอดเวลาขยันเต็มที่อย่างเป็นระบบ สามารถจับประเด็นได้เร็ว สื่อสารเก่ง พูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย เก่งคอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ อ่านหนังสือมาก ยืดหยุ่น เป็นนักจัดการ นักวางแผนวิเคราะห์ผลงานของตนเองตลอดเวลา กระจายงานกระจายอำนาจ ทำงานเป็นทีมใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เก่งเวลา ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุดมีเวลาสำหรับงาน ครอบครัว ตนเอง กีฬา การพักผ่อน งานอดิเรกและสังคม รู้ความสำคัญของงานและชีวิต ไม่พลัดวันประกันพรุ่ง
มีความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือ เป็นผู้นำนักพัฒนา กล้านำ กล้าตัดสินใจ กล้าเปลี่ยนแปลงที่จะเชื่อมโยงการจัดการในด้านต่างๆของสถานศึกษาไปสู่ความสำเร็จ ดังนี้
1 พัฒนาบุคลากร ทีมงานให้มีความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติที่ดีต่อการกระจายอำนาจ
2 ประชาสัมพันธ์ผู้ปกครองชุมชน โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดการศึกษาให้เข้าใจในหลักการและวิธีการของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารใหม่
3 ต้องกระจายอำนาจ การตัดสินใจ ให้คณะกรรมการสถานศึกษามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เช่น ร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางการศึกษา สนับสนุนกิจกรรมการศึกษา การจัดทำหลักสูตร และติดตามผลการศึกษา
4 ให้ความสำคัญกับกาบริหารจัดการโดยองค์คณะบุคคลและการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เครือข่ายผู้ปกครอง ชมรมศิษย์เก่า สมาคมผู้ปกครองและครู
5 ผู้บริหารสถานศึกษาตระหนักว่าความสำเร็จของการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน คือการพัฒนาผู้เรียนให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตามมาตรฐานที่กำหนด
6 ให้ความสำคัญกับครูผู้สอนในการตัดสินใจหรือร่วมคิดในเรื่องการจัดการเรียนการสอน
7 ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีภาวะผู้นำ เป็นผู้นำอย่างเต็มศักยภาพและเป็นผู้บริหารมืออาชีพ มีความเป็นผู้นำทางวิชาการ เป็นนักประสานสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน รวมทั้งวิสัยทัศน์กว้างไกล มองอนาคตของโรงเรียนได้ตรงกับความจริง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น